07/20/15

วัฒนธรรมและศิลปะมีความเจริญก้าวหน้าอย่างใหญ่หลวง

ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาตินั้น ปรากฏว่ามีอยู่หลายสมัยที่พุทธปัญญาของมนุษย์ไม่มีความสูงส่ง แต่ทว่ามีกำลังจิตที่เข้มแข็ง มีบางสมัยที่มนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าอย่างใหญ่หลวง แต่มนุษย์กลับสูญเสียความเข้มแข็งทางด้านกำลังจิตไป

ในยุคเรานี้ จะเห็นได้ว่าสมองมนุษย์ได้สร้างความสำเร็จในกิจการต่างๆ อย่างน่าชื่นชม แต่เมื่อพิจารณาในแง่ความก้าวหน้าของจิตใจแล้ว เราก็ยังอยู่ในระดับต่ำมาก มนุษย์ได้ค้นพบพลังงานปรมาณู ส่งดาวเทียมขึ้นไปสู่ห้วงอวกาศเพื่อเป็นบริวารของดวงอาทิตย์และได้บรรลุผลทางความเร็วอันน่าตื่นใจด้วยเครื่องกล สิ่งที่มหัศจรรย์ทั้งหลายแหล่ซึ่งเกิดจากพลกำลังและความรุนแรงอันมหาศาลนั้น แทนที่จะให้ความอภิรมย์กลับบดขยี้จิตใจของเราลงไป

ชีวิตได้กลายเป็นสิ่งที่ปราศจากเนื้อหา และดูเหมือนว่าประเทศยิ่งเจริญขึ้นเท่าใด ประชาชนพลเมืองก็ยิ่งจะต้องทำงานหนัก เพื่อชดใช้มวลแห่งความต้องการอันเป็นสิ่งเทียมมากขึ้นเท่านั้น ตั้งแต่เช้าจนค่ำ ประสาทของเราเต็มไปด้วยความเคร่งเครียดไม่เคยผ่อนคลาย มิฉะนั้นก็หาไม่พอใช้พอกิน เราว้าวุ่นมาก จนวันหนึ่งๆ ไม่มีเวลาแหงนดูฟ้าว่ามีเมฆหรือแจ่มใส เราผละหนีจากธรรมชาติอันเป็นดุจมารดาที่ให้แต่สิ่งดีสิ่งงามแก่ชีวิตเราไปอย่างผิดทาง ก็เพื่อที่จะสร้างโลกแห่งความหวาดกลัวและความเกลียดชัง สิ่งที่ร้ายที่สุดก็คือเจ้าลัทธินิยมวัตถุ อันน่าพรั่นพรึงนั้นกำลังข่มขู่มนุษย์ทุกรูปทุกนามไปทุกหนแห่ง ปัจจุบันนี้มนุษย์พากันคิดว่า อารมณ์ รู้สึกนึกคิดที่กอปรด้วยความเมตตาสงสารรักใคร่ซึ่งกันและกันนั้นเป็นสิ่งผิด มนุษย์ได้รับการสอนให้เป็นผู้ปราศจากความเมตตาปราณี ให้มีแต่ความโลภหลงและยึดวัตถุเป็นที่ตั้ง

การที่จะสร้างแนวต่อต้านลัทธิวัตถุนิยมนั้น ก็ต้องอาศัยหลักสำคัญ 2 ประการ คือ หลักธรรมอันบริสุทธิ์ทางศาสนา ประการหนึ่ง และศิลปะ อีกประการหนึ่ง แท้จริงนั้น จากประจักษ์การทั้งหลายแหล่ ศิลปะก็คืออาหารของจิตใจและพุทธิปัญญาของมนุษย์เรา ไม่ว่าวรรณกรรม ดนตรี จิตรกรรม ประติมากรรม และมัณฑนศิลป เราได้ประสบแต่ความเพลิดเพลินเจริญใจ ความสงบเยือกเย็น และบ่อเกิดของความหวังอันสูงส่ง ศิลปะทำให้เราเป็นคนดี รักใคร่กันและกัน ทำให้เรามีภาวะเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ฉะนั้น ศิลปะจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะขาดเสียมิได้สำหรับชีวิตที่มีวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งบรรดาบุคคลที่เจริญแล้วทั้งหลายต่างสนับสนุนส่งเสริมทั้งในด้านศีลธรรมและด้านการเงินอย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงได้มีการเปิดการแสดงแข่งขันศิลปะกัน ทั้งภายในประเทศชาติของตนเองและระหว่างนานาชาติขึ้นทุกๆรอบปี ทุกบ้านทุกเมืองมีการสร้างอาคารขึ้นเป็นศูนย์กลางศิลปะ สร้างหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ศิลปะขึ้นสำหรับประชาชนได้ชื่นชมสมบัติมีค่ายวดยิ่งของชาติ บรรดาประเทศต่างๆทั้งหลายมีการตกแต่งสถานที่ราชการด้วยงานจิตรกรรมและประติมากรรม มีการส่งเสริมศิลปกรรมชิ้นสำคัญๆ ระหว่างประเทศไปแสดงยังประเทศอื่น เพื่อแลกเปลี่ยนความชื่นชมในรสนิยมทางศิลปะซึ่งกันและกัน การกระทำเหล่านี้ทั้งหมดเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอาศัยศรัทธาปสาทะ กอปรด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะรักษาไว้ซึ่งแสงเพลิงอันรุ่งโรจน์ทางพุทธิปัญญาให้มีชีวิตอยู่ได้ ในยุคที่มนุษย์กำลังตกอยู่ในห้วงอันตรายที่จะกลายเป็นทาสของสิ่งผูกมัดทางกาย

ศิลปะที่เกี่ยวกับศาสนาในประเทศไทยเรานั้น ถ้ามิได้อยู่ที่เหตุผลทางด้านความต้องการหรือเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ก็กลายเป็นศิลปะเกี่ยวกับการค้าไป เมื่อศิลปินไทยเริ่มเนรมิตงานศิลปะร่วมสมัยปัจจุบัน (กับนานาประเทศ) เป็นการส่วนตัว จึงมีน้อยคนที่มีความสนใจเลื่อมใสในกิจกรรมทางพุทธิปัญญาใหม่นี้ ตรงกันข้าม โดยเหตุผลทางความคิดและความรู้สึกตามประเพณีนิยม คนส่วนมากไม่เข้าใจว่า ศิลปะนั้นคือส่วนหนึ่งของชีวิตทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งไม่อาจหยุดนิ่งอยู่ได้ตามสภาพเดิม กล่าวคือ ต้องแปรเปลี่ยนไป โดยประการฉะนี้เอง ความคิดสร้างงานศิลปะอันเป็นต้นฉบับไม่ซ้ำกับใครของศิลปินปัจจุบันจึงเกิดขึ้น ซึ่งแม้พิจารณาในแง่ศิลปะจะไม่ถึงขั้นเสร็จสมบูรณ์ ก็ยังมีคุณค่ากว่างานออกแบบหรือเลียนแบบศิลปะโบราณ ซึ่งได้กระทำซ้ำซากกันมานับเวลาเป็นศตวรรษๆ เพื่อที่จะยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ จำต้องกล่าวถึงภาพเขียนบรรยายเรื่องรามเกียรติ์หรือชาดกว่า ภาพเขียนเหล่านั้นมิใช่ศิลปะเนรมิต ย่อมเป็นสิ่งแน่ว่าศิลปินอาจเขียนหรือปั้นหรือแกะสลักลายเส้นเป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่ตนชอบ มิฉะนั้นแล้ว เราก็ตกแต่งประดับประดาเคหะสถานบ้านเรือนด้วยรูปถ่ายจากศิลปกรรมชั้นสูงของโบราณเสียจะดีกว่า

10/25/14

ศิลปะแทบทุกแขนงของไทยถูกสร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลใจทางศาสนา

ศิลปินในอดีตสร้างงานเพื่อรับใช้สถาบันและมีสถานะเปรียบเสมือนฐานันดรพิเศษที่ถูกอุ้มชูโดยชนชั้นสูง แต่เมื่อศิลปินหยุดสร้างงานศิลปะเพื่อปัจเจกบุคคล จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ศิลปะจะต้องอุ้มชูตัวเอง แต่ด้วยปัญหาจากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ของสังคมไทย ยังไม่มีพื้นฐานการบริโภคศิลปะในระดับวัฒนธรรม โดยเฉพาะการบริโภคศิลปะเพื่อเป็นอาหารของจิตใจ จึงทำให้ศิลปะบางแขนงอยู่นในสภาพที่ต้องต่อสู้อย่างหนัดเพื่อความอยู่รอด

และหากมองย้อนไปถึงจุดเปลี่ยนแบบก้าวกระโดดของการสร้างสรรค์ศิลปะในประเทศไทย อันเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดการแบ่งแยกศิลปะออกเป็นแบบประเพณีและแบบร่วมสมัย ก็จะพบว่า จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อัน้เป็นช่วงเวลาที่การล่าอาณานิคมกของชาติตะวันตกในเอเชียอาคเนย์กำลังเฟื่องฟู

เพื่อเป็นการลบล้างภาพลักษณ์ป่าเถื่อน อันเป็นข้ออ้างส่วมมากในการกลืนประเทศต่างๆ ของตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงดำเนินกุศโลบายอันแยบคาย ด้วยการสร้างอารยธรรมใหม่ขึ้นในสยาม ถือเป็นการเข้ามาอย่าง “เต็มตัว” ของศิลปกรรมตะวันตกและแบ่งตัวออกจากศิลปะดั้งเดิมอย่างชัดเจน

นอกจากสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกแล้ว รัชกาลที่ 4 ยังทรงแนะนำให้ศิลปินไทย สร้างงานตามแนวคิดทางจิตรกรรม ประติมากรรม แฟชั่น รวมถึงดนตรีตามแบบตะวันตกอีกด้วย ดังโปรดให้มีการสร้างพระที่นั่งแบบยุโรปขึ้นเป็นครั้งแรกในพระบรมมหาราชวัง และพระราชทานพระราชดำริให้ขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกแห่งยุควาดภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถสัดบวรนิเวศวิหารตามอย่างจิตรกรรมแนบตะวันตก โปรดให้หล่อพระบรมรูปเหมือนพระองค์เพื่อส่งไปตอบแทนพระราชไมตรีของพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการสร้างรูปเหมือนบุคคลครั้งแรกของสยาม ไปจนถึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้าจอมที่ตามเสด็จประพาสแต่งกายอย่างทหารสก็อตแลนด์ เป็นต้น

“ศิลปะใหม่” ในเวลานั้น จึงกลายเป็นสินค้าต้นเค้าของศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลต่อมา จนกระทั่งหยั่งรากลงเสมือนศิลปะเพื่อความเป็นอารยะของสยามประเทศในที่สุด ก่อนจะมีการวางรากฐานครั้งใหญ่าในด้านการศึกษาและเผยแพร่ศิลปะหลังจากการเข้ามาของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรในเวลาต่อมา

ศิลปะแทบทุกแขนงของไทยในยุคก่อนที่จะก้าวสู่ยุคใหม่ ถูกสร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลใจทางศาสนา แต่เมื่อมีศิลปะแนวใหม่ที่สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจและความคติดสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่เสมือนโครงสร้างใหม่ให้กับวงการศิลปะในประเทศไทย มุมมองและวิธีคิดในการสร้างสรรค์จึงเริ่มเปลี่ยนแปลงจากแนวศิลปะแบบประเพณีนิยมเพื่อศาสนามาเป็นศิลปะของบุคคลแต่ละคน ซึ่งก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจากการที่จุดหักเหดังกล่าวมีอิทธิพลของศิลปะตะวันตกเข้ามาครอบงำอย่างชัดเจน

06/23/14

การเรียนรู้ศิลปะทางสังคมและวัฒนธรรมของโลกต่างๆ

11

เมื่อพิจารณาศิลปะร่วมสมัยแบ่งออกเป็นประยุกต์ศิลป์และวิจิตรศิลป์จะเห็นว่า การดำรงอยู่และการพัฒนาของประยุกต์ศิลป์หลายแขนงในยุคสมัยต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันมีลักษณะที่ต่อเนื่องเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุผลจากความต้องการใช้สอยเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก รวมถึงเหตุผลทางธุรกิจ กลไกตลสาด อุปสงค์และอุปทาน ในขณะที่งานวิจิตรศิลป์บางแขนงกำลังประสบปัญหาด้านความอยู่รอด ทั้งความอยู่รอดของศิลปินและความอยู่รอดของตัวศิลปะเอง เงื่อนไขเชิงคุณค่า ทำให้กรอบวิวัฒนาการของประยุกต์ศิลป์กับวิจิตรศิลป์นั้นมีรูปร่างที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เพราะประยุกต์ศิลป์ เช่น สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ เรขศิลป์ แฟชั่น หรืองานศิลปะในสาขาอื่นใดที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการใช้สอย มีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเป็นตัวกำหนดรูปแบบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง ลัทธิความเชื่อ ค่านิยม ร่วมกับปัจจัยทางภายภาพและศาสตร์อื่นๆ เช่น หลัก สรีรศาสตร์ ประชากรศาสตร์ จิตวิทยา เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองการใช้งานให้ได้ประโยชน์สูงสุดควบคู่ไปกับการสร้างสุนทรียะให้กับผู้เสพ ในขณะที่การสร้างสรรค์งานวิจิตรศิลป์เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจของศิลปินเป็นหลัก และมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแรงสั่นสะเทือนทางอารมณ์ความคิดของผู้เสพเป็นสำคัญ

หากจะตั้งสมมุติฐานว่า เหตุผลที่ทำให้ศิลปะดำรงอยู่เพื่อจรรโลงสังคมในสถานะที่พึ่งพิงตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นวิจิตรศิลป์หรือประยุกต์ศิลป์ก็ตาม นั่นคือศิลปะนั้นจะต้องเป็นที่ต้องการหรือต้องรสนิยมของผู้เสพ ซึ่งอาจหมายถึงความต้องการทางด้านการใช้สอย หรือความต้องการทางด้านจิตใจ จึงเป็นหนน้าที่ของศิลปินที่จะต้องแสวงหาความอยู่รอดของตัวเอง ภายใต้เงื่อนไขความเป็นจริงต่างๆ ในสังคม ณ ยุคสมัยของตน ซึ่งจะเป็นการต่อสู้ทั้งในเรื่องภาวะเศรษฐกิจ สังคม หรือค่านิยมความเชื่อและความรู้ความเข้าใจของประชาชน การวางพื้นฐานการรับรู้ที่สังคมจะมีต่องานศิลปะ เพื่อให้การเปิดรับและหากมองในเชิงการตลาด ก็หมายถึงกระบวนการในการการสร้างความต้องการบริโภคให้เกิดขึ้นนั่นเอง แม้ว่าความต้องการบริโภคจะเป็นดาบสองคมที่นำไปสู่ระบบการผลิตซ้ำ เพื่อให้เกิดงานที่ขายได้ อันจะส่งผลให้ศิลปินขาดแคลนแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์อันบริสุทธิ์ในการสร้างสรรค์งานซึ่งเป็นตัวทำลายคุณค่าของศิลปะในเวลาเดียวกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่า หากศิลปินไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ งานศิลปะก็จะไม่เกิดขึ้น