เมื่อพิจารณาศิลปะร่วมสมัยแบ่งออกเป็นประยุกต์ศิลป์และวิจิตรศิลป์จะเห็นว่า การดำรงอยู่และการพัฒนาของประยุกต์ศิลป์หลายแขนงในยุคสมัยต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันมีลักษณะที่ต่อเนื่องเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุผลจากความต้องการใช้สอยเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก รวมถึงเหตุผลทางธุรกิจ กลไกตลสาด อุปสงค์และอุปทาน ในขณะที่งานวิจิตรศิลป์บางแขนงกำลังประสบปัญหาด้านความอยู่รอด ทั้งความอยู่รอดของศิลปินและความอยู่รอดของตัวศิลปะเอง เงื่อนไขเชิงคุณค่า ทำให้กรอบวิวัฒนาการของประยุกต์ศิลป์กับวิจิตรศิลป์นั้นมีรูปร่างที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เพราะประยุกต์ศิลป์ เช่น สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ เรขศิลป์ แฟชั่น หรืองานศิลปะในสาขาอื่นใดที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการใช้สอย มีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเป็นตัวกำหนดรูปแบบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง ลัทธิความเชื่อ ค่านิยม ร่วมกับปัจจัยทางภายภาพและศาสตร์อื่นๆ เช่น หลัก สรีรศาสตร์ ประชากรศาสตร์ จิตวิทยา เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองการใช้งานให้ได้ประโยชน์สูงสุดควบคู่ไปกับการสร้างสุนทรียะให้กับผู้เสพ ในขณะที่การสร้างสรรค์งานวิจิตรศิลป์เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจของศิลปินเป็นหลัก และมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแรงสั่นสะเทือนทางอารมณ์ความคิดของผู้เสพเป็นสำคัญ
หากจะตั้งสมมุติฐานว่า เหตุผลที่ทำให้ศิลปะดำรงอยู่เพื่อจรรโลงสังคมในสถานะที่พึ่งพิงตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นวิจิตรศิลป์หรือประยุกต์ศิลป์ก็ตาม นั่นคือศิลปะนั้นจะต้องเป็นที่ต้องการหรือต้องรสนิยมของผู้เสพ ซึ่งอาจหมายถึงความต้องการทางด้านการใช้สอย หรือความต้องการทางด้านจิตใจ จึงเป็นหนน้าที่ของศิลปินที่จะต้องแสวงหาความอยู่รอดของตัวเอง ภายใต้เงื่อนไขความเป็นจริงต่างๆ ในสังคม ณ ยุคสมัยของตน ซึ่งจะเป็นการต่อสู้ทั้งในเรื่องภาวะเศรษฐกิจ สังคม หรือค่านิยมความเชื่อและความรู้ความเข้าใจของประชาชน การวางพื้นฐานการรับรู้ที่สังคมจะมีต่องานศิลปะ เพื่อให้การเปิดรับและหากมองในเชิงการตลาด ก็หมายถึงกระบวนการในการการสร้างความต้องการบริโภคให้เกิดขึ้นนั่นเอง แม้ว่าความต้องการบริโภคจะเป็นดาบสองคมที่นำไปสู่ระบบการผลิตซ้ำ เพื่อให้เกิดงานที่ขายได้ อันจะส่งผลให้ศิลปินขาดแคลนแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์อันบริสุทธิ์ในการสร้างสรรค์งานซึ่งเป็นตัวทำลายคุณค่าของศิลปะในเวลาเดียวกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่า หากศิลปินไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ งานศิลปะก็จะไม่เกิดขึ้น